121,123 Soi.Tiwanonth3, T.Taladkwan Muang Nonthaburi 11000

รีโนเวทบ้านเก่า เปลี่ยนวัสดุใหม่ให้ทนน้ำ

       บ้านที่เจอปัญหาน้ำท่วมบ่อยๆ แต่ไม่สามารถย้ายทำเล หรือยกพื้นสูงหนีน้ำได้ อาจเลือกวิธีเผชิญหน้ากับน้ำท่วมโดยเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ทนน้ำเพื่อลดความเสียหายแทน

 

       สำหรับบ้านที่ต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมบ้านเป็นประจำเนื่องจากที่ตั้งของบ้านอยู่ระดับต่ำกว่าพื้นที่ใกล้เคียงนั้น หากเราไม่สามารถย้ายบ้านหนีได้ง่ายๆ  ก็ต้องหาทางรับมือกันไปตามเรื่องตามราว  บางคนใช้วิธีปรับปรุงบ้านโดยยกระดับพื้นให้สูงขึ้น ส่วนบ้านที่ไม่สามารถยกระดับพื้นให้สูงพอจะหนีน้ำได้ทุกครั้ง หรือต้องการรับมือเผื่อเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในอนาคต ก็อาจเปลี่ยนมาใช้วัสดุและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ให้เป็นชนิดทนน้ำไปเสียเลย วิธีนี้เหมาะกับบ้านที่ใช้พื้นหล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ผนังก่ออิฐฉาบปูนหรือผนังหล่อคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งเหมาะกับการเผชิญน้ำมากกว่าระบบพื้นผนังเบา   

ปรับปรุงพื้นผนังใหม่ให้ทนน้ำ
       หากวัสดุปิดผิวของเดิมที่ใช้อยู่เป็นชนิดที่ไม่ทนน้ำ เช่น ผนังทาสี ผนังกรุวอลเปเปอร์ พื้นปิดผิวด้วยกระเบื้องยาง/ไม้ลามิเนต/ไม้เอ็นจิเนียร์ ผนังและพื้นที่ติดตั้งทับด้วยไม้เทียม เป็นต้น ก็อาจเปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่นที่ทนน้ำได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง เช่น

       หินล้าง กรวดล้าง ทรายล้าง สามารถทำลวดลายและสีสันได้ตามต้องการโดยใช้เส้นแบ่งพื้นที่เป็นตัวกำหนดลวดลาย ให้มีผิวสัมผัสหยาบ จึงเหมาะกับพื้นและผนังภายนอก

       หินขัด สามารถกำหนดลวดลายและสีสันได้เช่นเดียวกับหินล้างและกรวดล้าง ใช้งานได้ทั้งพื้นและผนัง มีผิวสัมผัสที่เรียบมัน ควรเลี่ยงการใช้งานบนพื้นภายนอกที่มีขนาดใหญ่ เพราะพื้นผิวจะค่อนข้างลื่นเมื่อเปียกน้ำอาจทำให้ลื่นหกล้มได้ง่าย

 

ภาพ: (ซ้าย) พื้น/ผนังกรวดล้าง  และ (ขวา) พื้น/ผนังหินขัด
 

       กระเบื้อง มีหลากหลายรูปแบบในท้องตลาด ซึ่งเจ้าของบ้านควรเลือกชนิดที่เหมาะกับการใช้งาน เช่น กระเบื้องสำหรับผนังควรใช้ปูผนังเท่านั้น ส่วนพื้นภายนอกที่โดนน้ำเป็นประจำควรเลือกกระเบื้องที่มีพืนผิวหยาบไม่ลื่นจนเกินไป โดยอาจพิจารณาเลือกใช้กระเบื้องประเภทที่มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำ อย่างกระเบื้องพอร์ชเลน (Porcelain) หรือแกรนิตโต เพื่อลดโอกาสเกิดคราบน้ำฝังในเนื้อกระเบื้อง

       ปูนเปลือย สามารถใช้กับงานพื้นและผนัง โดยจะมีทางเลือกและข้อคำนึงที่ต่างกัน  "ปูนเปลือยสำหรับงานผนัง" สามารถเลือกทำได้ทั้งแบบผิวหยาบและผิวขัดมัน หากต้องการสีสันหรือลวดลาย อาจใช้ปูนฉาบแต่งผิวสี (Color Render) หรือ ปูนฉาบแต่งผิวบาง (Skim Coat) ฉาบทับ ซึ่งมีหลายสีให้เลือกและทำแพทเทิร์นลวดลายต่างๆ ได้ด้วย ส่วน "ปูนเปลือยสำหรับงานพื้น" นั้น กรณีเป็นพื้นภายในบ้านจะเหมาะกับผิวขัดมันซึ่งให้สัมผัสที่เรียบเนียน  ส่วนพื้นภายนอกจะเหมาะกับปูนเปลือยที่มีผิวหยาบ หรือถ้าจะทำแบบผิวขัดมันควรทำลวดลายเพิ่มเติมและมีหลังคาคลุมกันฝน เพื่อไม่ให้เปียกน้ำจนลื่นล้มได้ง่าย

 

ภาพ: พื้นและผนังปูนเปลือยขัดมันในห้องนั่งเล่น (ยกเว้นผนังในภาพขวา ใช้ปูนฉาบแต่งผิวบางสีฟ้าทำลวดลาย)

 

 

ภาพ: ผนังที่ตกแต่งด้วยปูนฉาบแต่งผิวสี (บนซ้าย) และปูนฉาบแต่งผิวบางสี (ล่างซ้ายและขวา) ซึ่งสามารถเลือกสี ผิวสัมผัสและสร้างสรรค์ลวดลายได้หลากหลาย  
 

เปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ ไม่กลัวน้ำท่วม
       เมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม เรามักจะเลือกเฟอร์นิเจอร์ชิ้นที่มีน้ำหนักเบา หรือสามารถถอดชิ้นส่วนเก็บได้ (หน้าบานหรือลิ้นชัก) ย้ายขึ้นไปไว้ที่สูงเพื่อหนีน้ำ ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่เคลื่อนย้ายยาก เราอาจพิจารณาเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ทนน้ำมากขึ้นอย่าง ไม้จริง  พลาสติก ไฟเบอร์กลาส คอมแพคลามิเนต สำหรับเฟอร์นิเจอร์ Built-in อย่างเคาน์เตอร์ครัว อาจเลือกทำเคาน์เตอร์ก่ออิฐ/อิฐมวลเบา/แผ่นเคาน์เตอร์มวลเบาสำเร็จรูป แล้วทำผิวปูนเปลือยขัดมัน  หรือเลือกใช้เคาน์เตอร์ครัวสเตนเลสแทน

ภาพ: การทำเคาน์เตอร์ครัวปูนเปลือย สามารถใช้วิธีก่ออิฐเป็นขาพร้อมท็อปเคาน์เตอร์หล่อ ค.ส.ล. (ซ้าย) หรือจะเลือกใช้แผ่นเคาน์เตอร์มวลเบาสำเร็จรูปมาประกอบเป็นเคาน์เตอร์ครัวก็ได้ (ขวา)
 

       การปรับปรุงบ้านเปลี่ยนมาใช้วัสดุที่ทนน้ำนับเป็นอีกทางออกเพื่อรับมือปัญหาน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ตาม เจ้าของบ้านควรตระหนักเสมอว่าวัสดุที่ทนน้ำเหล่านี้หากต้องแช่น้ำเป็นเวลานานมากก็อาจมีสภาพไม่เหมือนเดิมนัก โดยเฉพาะเรื่องรอยด่างและคราบน้ำบนผิววัสดุ ยกตัวอย่างเช่น ไวนิล ผนังฉาบปูนทาสี ที่แช่น้ำนานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน มักเกิดรอยด่างในส่วนที่จมน้ำให้เห็นได้ชัดเจน เป็นต้น ซึ่งเจ้าของบ้านจะต้องพิจารณาถึงการแก้ไขตามความเหมาะสมแต่ละกรณีไป ทั้งนี้ การติดตั้งวัสดุให้ถูกต้องตามที่ระบุในคู่มือก็อาจบรรเทาปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง เช่น การลงน้ำยาเคลือบผิวปูนฉาบช่วยป้องกันน้ำและความชื้นเข้าสู่พื้นผิวปูน เป็นต้น

 

       ทั้งนี้ นอกจากจะเปลี่ยนมาใช้วัสดุพื้นผนังที่สามารถทนน้ำได้แล้ว อุปกรณ์ประกอบอย่างประตูหน้าต่าง ก็ควรเลือกใช้วัสดุที่ทนน้ำได้ดีด้วย เช่น อะลูมิเนียม PVC ไวนิล เป็นต้น 

 

ภาพ: ตัวอย่างประตูและหน้าต่างไวนิล

 

 

ที่มา : SCG Experience

<<< back

Share
Share